5 สายพันธุ์ไส้เดือนยอดนิยมสำหรับเลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน

 


ด้วยกระแสความนิยมการทำเกษตรและการอุปโภคบริโภคผลผลิตทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษ ทำให้การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ย สามารถสร้างรายได้เสริม หรือจะยึดเป็นอาชีพหลักก็ได้ แม้นเริ่มมีคนสนใจเลี้ยงกันมากขึ้นก็ตาม แต่สามารถรักษาคุณภาพของสินค้า และสร้างความแตกต่างในตลาดได้ ถือว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสไปได้อีกไกล เข้าเรื่องเลยดีกว่าาาา 5 สายพันธุ์ไส้เดือนยอดนิยมสำหรับเลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ดังนี้

1. แอฟริกันไนท์ ครอเลอร์ หรือ พันธุ์ AF 


ลักษณะทั่วไป
ลำตัวมีสีเทาอมม่วง ด้านท้องแบน และมีสีซีดกว่าด้านหลัง ขนาดความยาวเฉลี่ย 13-25 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัว 5-8 มิลลิเมตร แต่สามารถเพาะเลี้ยงให้โตได้ถึง 30 เซนติเมตร น้ำหลักเฉลี่ย 2.5-2.9 กรัม หากอยู่ในสภาพที่ตัวโตสมบูรณ์ จะสะท้อนแสงเป็นสีม่วง เจริญเติบโตจากตัวอ่อนจนถึงเป็นหนุ่มสาว ประมาณ 1-3 เดือน หรืออาจเร็วกว่า ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของแหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยง รวมทั้งสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง มีอายุเฉลี่ยประมาณ 4-5 ปี 
- จุดเด่น กินเก่ง ขยายพันธุ์ไว เหมาะสำหรับการนำมากำจัดขยะได้ และเป็นอาหารสัตว์ เช่น ไก่ กบ ปลา เป็นต้น หรือต้องการนำไปเป็นอาหารสัตว์ที่ต้องการเสริมโปรตีน
- จุดด้อย ต้องการสถานที่เพาะเลี้ยง หรือโรงเรือนที่สามารถควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 12-35 องศาเซลเซียส หากอุณภูมิสูงถึง 35-37 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3-5 วัน จะค่อยๆ คายน้ำและตายลงอย่างรวดเร็ว

2. ไทเกอร์ หรือ Tiger worm



ลักษณะทั่วไป
เป็นไส้เดือนตัวสีแดง ลำตัวกลม มีปล้องเป็นลายคล้ายกับลายเสือ เมื่อตัวโตเต็มวัย ปลายหางจะมีสีเหลืองอ่อน ขนาดความยาว 5-10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำตัว 3-5 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 0.5 กรัม ใช้ระยะเวลาในการฝักไข่ประมาณ 18-26 วัน มีกลิ่นตัวรุนแรง อายุประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพของโรงเรืองที่ใช้เลี้ยง
- จุดเด่น มีความทนทานต่อช่วงอุณหภูมิ ประมาณ 0-40 องศาเซลเซียส นำมาทำน้ำหมักมูลไส้เดือนได้ดี ชอบความชื้นสูง และมีเมือกจากลำตัวมากกว่าชนิดอื่น
- จุดด้อย ระยะเวลาการเจริญเติญโตค่อนข้างนาน และราคาสูง

3. ไส้เดือนสีน้ำเงิน หรือ Blue worm 


ลักษณะทั่วไป
ตัวเล็ก ผอมยาว สีม่วงเข้มออกประกายสีน้ำเงิน พบตามธรรมชาติในแถบเอเชีย ทั้งอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว กัมพูชา และประเทศไทย ขนาดยาว 3-7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร 

- จุดเด่น มูลละเอียด ละลายเร็ว ทำให้พืชสามารถดูดซึมได้เร็วกว่า ระยะเวลาการเจริญเติบโตจากตัวอ่อน เป็นตัวเต็มวัย เพียง 21-35 วัน 
- จุดด้อย ตัวเล็ก ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นเหยื่อเกี่ยวเบ็ด และร่อนแยกตัวออกจากมูลยากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

4. ยูโร หรือ European nightcrawler



ลักษณะทั่วไป
มีสีชมพูและแถบสีเหลืองตลาดลำตัว ปลายหางมีสีเหลือง มีถิ่นกำเนิดในยุโรป แต่พบทั่วไปในโลก ยกเว้น ทวีปแอนตาร์กติกา ลักษณะคล้ายพันธุ์ไทเกอร์ และไทเกอร์แดง ขนาดประมาณ 6-15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักเฉลี่ยราว 1.5 กรัม 
- จุดเด่น มีความทนทานต่อสภาพอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และความชื้นในช่วงกว้าง ทนอากาศร้อน หนาวได้ดีตั้งแต่ 0-40 องศาเซลเซียส
-จุดด้อย ราคาค่อนข้างสูง
สำหรับสายพันธุ์นี้ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนในอเมริกา และแคนาดา ซึ่งจากโครงการวิจัยการเลี้ยงไส้เดือน ม.เกษตรศาสตร์ พบว่าไส้เดือนสายพันธ์ุนี้สามารถเติบโตและขยายพันธุ์ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของ จ.สกลนคร (เป็นจังหวัดที่ถือได้ว่ามีสภาพอากาศที่ร้อนมากในฤดูร้อน และหนาวมากในฤดูหนาว) ทำให้คาดกันว่าไส้เดือนยูโร จะเป็นไส้เดือนที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุดในประเทศไทยในอนาคต

5. ขี้ตาแร่ 


ลักษณะทั่ว
เป็นไส้เดือนดินสีออกแดงชมพู หรือน้ำตาลแดงอ่อนๆ ที่มีลำตัวกลมขนาดปลานกลาง อาศัยอยู่บริเวณที่มีอินทรีย์วัตถุมาก เช่น ใต้กองปุ๋ยหมัก ใต้กองมูลวัวในโรงเลี้ยงวัวนม ใต้เศษหญ้าที่ตัดทิ้ง ซึ่งจะอาศัยอยู่บริเวณผิวดิน ไม่ขุดรูอยู่ในดินลึก ภาคเหนือเรียกว่า "ขี้ตาแร่" หรือ "ขี้ตระแหร้" ซึ่งชาวบ้านมักใช้เป็นเหยื่อสำหรับตกปลา ถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย และเอเชียตะวันออก เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่พบกันมากในประเทศไทย ขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร ออกไข่เฉลี่ย 240-400 ตัว/ปี เวลาฟักเป็นตัว 25-30 วัน ใช้เวลาในการโตเต็มวัยประมาณ 5-6 เดือน มีอายุ 2-4 ปี
- จุดเด่น อยู่ได้ในกองขยะ ใบไม้ หรือกองอินทรีย์วัตถุ สามารถหาได้จากธรรมชาติ นิยมนำมาใช้กำจัดขยะ หรือผลิตปุ๋ยได้เช่นกัน
- จุดด้อย โตช้ากว่าสายพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งการนำมาเลี้ยง จึงมักไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ในระยะยาว กล่าวคือ ไส้เดือนถิ่น ที่มีชีวิตรอดในถิ่นฐานของมันส่วนใหญ่มักชอบอยู่ในธรรมชาติ และวางไข่เพื่อการสืบพันธุ์ตามฤดูกาล มันจะวางไข่ไว้ในที่ๆปลอดภัย และจะฝักตัวขึ้นมาในอีกฤดูหนึ่ง



สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.ewmfarm.com


Comments